นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเห็นว่า จุ๊บเป็นสิ่งที่ต้องมี เคียงคู่กับกระดาษเช็ดก้น Wet One และ Baby Monitor แต่จุ๊บดีจริงสำหรับเด็กหรือ ? ถึงแม้ว่าคำตอบยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เปิดไฟเขียวให้ใช้ได้ในช่วงขวบปีแรก
ข้อดี
- จุ๊บทำให้เด็กที่งอแงสงบลงได้ เด็กทารกบางคนมีความสุขมากเมื่อได้ดูดอะไรสักอย่าง
- จุ๊บสามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้ชั่วคราว เมื่อเด็ก ๆ หิว จุ๊บสามารถถ่วงเวลาให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งท่าให้นม หรือ เตรียมชงนม จุ๊บยังเหมาะกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เช่น ฉีดยา ตรวจเลือด หรือ การตรวจอื่น ๆ
- จุ๊บช่วยให้เด็กทารกหลับ ถ้าลูกหลับยาก จุ๊บอาจช่วยคุณได้
- จุ๊บช่วยลดอัตราความเสี่ยงที่จะเกิด SIDS ถ้าให้ดูดตอนนอน
- จุ๊บสามารถทิ้งขยะได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลิกจุ๊บ ก็แค่ทิ้งมันไปซะ แต่ถ้าเด็กดูดนิ้ว คราวนี้จะยากในการเลิกดูด
ข้อเสีย
- การให้ดูดจุ๊บเร็วเกินไป จะทำให้การให้นมแม่ยากขึ้น เนื่องจากวิธีการดูดนมจากเต้า มันคนละเรื่องกับการดูดจุ๊บ หรือ ขวด
- เด็กทารกอาจจะต้องพึ่งดูดจุ๊บตลอดเวลา ถ้าให้เด็กดูดจุ๊บตอนนอน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องตื่นมากลางดึกเพราะลูกร้อง เมื่อจุ๊บหลุดออกจากปาก
- การดูดจุ๊บ อาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดขึ้นน้อยกว่ามากในเด็กแรกเกิด - 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงการเกิด SIDS
- การดูดจุ๊บเป็นเวลานาน อาจทำให้ปัญหาในช่องปากได้ การดูดจุ๊บในช่วง 2 - 3 ปีแรกไม่ส่งผลอะไร แต่ถ้าเด็กยังต้องการจะดูดต่อ อาจทำให้ฟันหน้าเหยินออกมา หรือ ฟันกรามบน - ล่างขบไม่ตรงกันได้
ใช้จุ๊บให้เป็น
ถ้าคุณเลือกจะให้ลูกดูดจุ๊บ ลองนำเทคนิคต่อไปนี้ไปใช้กันดูครับ
- รอจนกว่าการให้นมแม่เป็นเรื่องง่าย ๆ ก่อน มันอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือ นานกว่านั้น กว่าจะการให้นมแม่จะสำเร็จ ถ้าคุณเม่ตั้งใจจะให้นมแม่ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รอจนกว่าเด็กจะอายุ 1 เดือน ให้เด็กเป็นคนกำหนดเองว่า พร้อมเมื่อไร ถ้าเด็กไม่สนใจ ก็ลองใหม่ครั้งต่อไป หรือ จะเลิกพยายามใช้จุ๊บไปเลยก็ได้ ไม่ต้องบังคับให้ดูดนะครับ
- เลือกซื้อจุ๊บที่เป็นชั้นเดียว และ สามารถล้างได้ง่าย จุ๊บที่แยกส่วนได้อาจหลุดติดคอได้ ส่วนรูปทรงและความแข็งของจุ๊บ ก็เลือกซื้อได้ตามชอบ
- ควรมีจุ๊บสำรอง เมื่อคุณพ่อคุณแม่ หาจุ๊บอันโปรดของลูกได้แล้ว ก็ควรไปเหมาซื้อไว้สำรองสัก 2 - 3 อัน เพราะเด็กบางคน จะไม่ยอมดูดจุ๊บอันอื่น ที่ไม่ใช้อันโปรดของเขา
- ต้องรักษาความสะอาด ก่อนใช้จุ๊บอันใหม่ ควรล้างด้วยสบู่ กับ น้ำอุ่น เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค ควรแช่จุ๊บไว้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู ในอัตราส่วนที่เท่ากันสัก 2 - 3 นาทีต่อวัน ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนนำไปใช้
- ดูว่าตัวดูดฉีกขาดหรือไม่ พยายามเปลี่ยนจุ๊บบ่อย ๆ ตัวดูดที่ฉีกขาด อาจหลุดติดคอได้
- ระวังการใช้สายคล้องจุ๊บ อย่าใช้สายที่ยาวจนสามารถทำให้พันคอเด็กได้
- ปล่อยให้เด็กนอนต่อไป ถ้าจุ๊บหลุดออกจากปากในขณะที่นอนหลับ ไม่ต้องจับให้ดูดใหม่ ถ้าเด็กไม่งอแง
- พยายามหาวิธีกล่อมลูกด้วยวิธีอื่น อย่าเอะอะอะไรก็ให้ดูดจุ๊บ บางทีการเปลี่ยนท่านอน หรือ อุ้มกล่อมโยกตัวไปมา แค่นี้ก็อาจจะทำให้เด็กหลับได้แล้ว ถ้าเด็กหิว ก็ให้ป้อนนม
- ดูฤกษ์งามยามดีให้การเลิกจุ๊บ เด็กส่วนใหญ่จะเลิกจุ๊บเองตอนอายุ 2-4 ขวบ ถ้าถึงเวลานั้นแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะเลิกได้ ก็คงต้องพึ่งคุณหมอแล้วล่ะครับ ...
|